วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

Accent



        British accent & American accent.
        สำหรับผู้เขียนเองแล้วเชื่อว่าใครที่เรียนภาษาอังกฤษเนี่ยจะทราบมาว่าภาษาอังกฤษที่ใช้กันอยู่เนี่ยหลัก ๆ ก็มักจะมีอยู่ 2 สำเนียงใช่ไหมคะ  แล้วก็บ่อยครั้งที่เวลาคนเรียนรู้หรือผู้ใช้ภาษามักจะบอกว่าทั้งสองสำเนียงมีความต่างกันอยู่มากมาย  ไม่ว่าจะด้วยการออกเสียงหรือด้วยคำศัพท์  หรือแม้แต่หลักไวยากรณ์ที่ถูกจำกัดความไว้ก็ยังสามารถแตกต่างกันได้เช่นกัน

        แล้วเราควรเลือกอะไร? 

        คำตอบของผู้เขียนคือไม่เลือกค่ะ  เพราะอันที่จริงแล้วจากการสังเกตการณ์เรียนภาษาอังกฤษในระบบการศึกษาไทยโดยทั่วไปแล้วเนี่ยเราจะเรียนแบบผสมค่ะ  เราสามารถสังเกตได้จากสิ่งรอบตัวหลายอย่างของไทยนะคะที่มักจะไม่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน  หากทางเลือกต่าง ๆ ที่มีมามีคุณประโยชน์ด้วยกันแล้วเราเองก็มักที่จะใช้การผสมผสานเข้าด้วยกันค่ะ
        ที่จริงแล้วผู้เขียนเองก็อาจไม่มีความรู้มากพอที่จะไปตัดสินได้ว่าการระบบการศึกษาของไทยเป็นแบบผสมจริง ๆ รึเปล่านะคะ  แต่ก็ตามที่บอกค่ะว่ามาจากการสังเกตเข้าด้วยกัน  อย่างคำศัพท์บางคำที่เราใช้ก็เป็นแบบอเมริกัน  แต่บางครั้งการออกเสียงของเราก็ดันเป็นแบบอังกฤษ(หรือ British) ไปก็ได้นะคะ

        ถ้าเกิดเรียนแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร  ควรทำยังไง?

        ใจจริงของผู้เขียนก็อยากจะตอบเป็นเอลซ่า ว่า “Let it gooooooo.” ไปค่ะ  แต่จะดูไม่ได้ช่วยอะไรมากเท่าไหร่  คือผู้เขียนขออธิบายเหตุผลกันซะหน่อยนะคะ
        คนเรามีจุดประสงค์และจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ต่างกันค่ะ  และสำหรับผู้เขียนเองผู้เขียนคิดว่าการเรียนรู้ภาษาต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นภาษาอังกฤษนะคะ  จุดประสงค์ที่สำคัญคือ เพื่อการสื่อการค่ะ  เพราะเราใช้ภาษาเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร  แล้วพอมามองในมุมของภาษาอังกฤษที่ผู้เขียนกำลังศึกษาอยู่นี้ผู้เขียนเชื่อมั่นอย่างยิ่งค่ะว่าจะด้วยสำเนียงไหนแล้วคนเราก็สามารถสื่อการกันเข้าใจได้ค่ะขอแค่ไม่ออกเสียงคำผิดไปก็เท่านั้นเอง

        และสำหรับหลายคนที่เรียนภาษาแล้วคิดว่าแต่ละสำเนียงมีเสน่ห์ที่น่าค้นหาต่างกัน  และเราเองก็อยากจะพูดสื่อสารในแบบนั้น ๆ ได้  ผู้เขียนแนะนำว่าฝึกเยอะ ๆ ค่ะ อย่างที่ได้บอกไปสำหรับผู้เขียนการเรียนภาษาให้ดีได้เนี่ยเราต้องลอกเลียนแบบเก่งด้วยค่ะ  และก็อย่าลืมนะคะว่าเราแค่ไปลอกเลียนแบบมาเราไม่ได้เป็นคนคิดหรือคนใช้ภาษานั้น ๆ ตั้งแต่แรกเกิด การที่เราจะพูดหรือสื่อสารในสำเนียงของเราเองที่อาจจะผสมผสานหลากหลายสำเนียงเข้าด้วยกันมันก็ไม่ผิดหรือแปลกเลยค่ะ  เพราะเราก็คือเรา  ถ้าผู้รับสารเข้าใจสารที่เราส่งไปในความหมายเดียวกันกับเรานั่นก็ถือว่าประสบความสำเร็จมากแล้วค่ะ

        สุดท้ายนะคะผู้เขียนไม่ได้ต้องการบังคับให้ผู้อ่านเจาะจงเลือกเรียนในแบบใดแบบหนึ่งนะคะ  แต่ผู้เขียนต้องการบอกความคิดของผู้เขียนผ่านทางตัวอักษรทั้งหลายนี้ว่าสิ่งสำคัญคือเราสื่อสารแล้วเข้าใจกันได้ค่ะ  แต่ก็อย่าลืมเรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละที่ด้วยนะคะ  แม้ว่าเราอาจจะสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษเหมือนกันก็จริงแต่บางทีความหมายของคำศัพท์หรือรูปประโยคก็อาจมีความหมายแตกต่างกันไปตามแต่ละที่นะคะ

        ท้ายที่สุดอย่างแท้จริงค่ะ >_<
        ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนคงรู้จักอาจารย์อดัมกันนะคะ ผู้เขียนเลยขอยกวิดีโอตัวหนึ่งที่อาจารย์อดัมได้พูดคุยกับเพื่อนต่างสำเนียงดูค่ะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น