วันพุธที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

Find Some Inspiration 2



        จากบทความก่อนหน้าที่มีการนำเสนอจุดเล็กจุดน้อยที่ได้จากเพลงกัน  บทความนี้ก็ขอสืบเนื่องมาอีกซักบทความละกันนะคะ

        ในบทความนี้ขอเสนอเพลง  One Thing ของ One Direction

 
        ในเนื้อเพลงนี้จะมีท่อนที่ว่า
‘Cause you make my heart race
Shot me out of the sky
You’re my kryptonite
You keep making me weak
Yeah, frozen and can’t breathe.

        ซึ่งความหมายของเพลงโดยรวมเนี่ยประมาณว่าเป็นการจีบผู้หญิงหรือจีบสาวทั่วไปนั่นแหละค่ะ  เป็นการบอกว่าผู้หญิงคนนั้นที่ต้องการจีบเนี่ยมีอิทธิพลต่อตัวเองอย่างไร  แต่คำที่ขีดเส้นใต้นั้นก็สามารถอธิบายได้ด้วยวิดีโอคลิปต่อไปนี้ค่ะ  บอกก่อนนะคะว่าไม่ได้มีการโฆษณาให้กับผู้เกี่ยวข้องแต่อย่างใดนะคะ เพียงแต่ชอบมุมมองและการนำเสนอความรู้ที่เพิ่มมากขึ้นค่ะ
       
เป็นช่วง  13:09 – 17:03  ค่ะ


        เป็นที่สังเกตอีกอย่างนะคะว่าการเรียนภาษาอังกฤษของเราสามารถทำให้เรามีความรู้เพิ่มเติมมากขึ้น  และยังทำให้เราสามารถศึกษาเพิ่มเติมไดจากการสังเกตและการสงสัยได้ค่ะ  ดังนั้นผู้เขียนขอเสนออีกอย่างนะคะว่าหากผุ้อ่านมีความสงสัยใคร่รู้ให้ลองสังเกตด้วยตัวเองดูค่ะแล้วเลือกหาเพิ่มเติมเพื่อไขข้อสงสัยให้ตัวเอง  จะทำให้สิ่งที่เรารู้มีเพิ่มมากขึ้นค่ะ
        ถ้าผู้อ่านสนใจเพิ่มเติมสามารถศึกษาเนื้อเพลงได้ด้วยตนเองเลยค่ะ  หรือแม้กระทั่งเกี่ยวกับเรื่องจุดอ่อนของซุปเปอร์แมนได้ค่ะ

วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

Find Some Inspirations



        หลังจากบทความที่แล้วมีการทิ้งท้ายด้วยบทเพลง If I Die Young ไป บทความนี้ผู้เขียนเลยอยากจะนำเสนอบทเพลงอื่น ๆ บ้างค่ะ  เพื่อบอกว่าเราสามารถเรียนรู้ภาษาได้ตลอดเวลาไม่จำเป็นว่าต้องอยู่ในเวลาเรียนหรือแค่ในห้องเรียนเท่านั้นค่ะ

        แต่ว่าถ้ามาเรียนรู้ภาษาจากเพลงแล้วจะได้อะไร

        การเรียนรู้จากบทเพลงหรือสื่อมีเดียต่าง ๆ จะมีข้อดีอยู่อย่างคือเราเลือกในสิ่งที่เราสนใจที่จะรู้ค่ะ  บางครั้งความรู้นั้น ๆ อาจจะเป็นของแถมมาด้วยซ้ำ  แต่ผู้เขียนก็ขอแนะนำวิธีนี้ไว้ใช้เพื่อผ่อนคลายตัวเองได้ด้วยค่ะ  สำหรับผู้เขียนคิดว่าสิ่งที่เราได้มาจากเหตุการณ์รอบตัวเรามักจะสามารถจดจำและนำมันไปใช้ได้ดีกว่าการท่องจำอย่างเดียวค่ะ

        เพลงแรก เป็นเพลงของKaty Perry – This Is How We Do
        ในเพลงนี้จะมีสำนวนประมาณว่า “It’s no big deal.” ซึ่งแปลว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย  ก็ชีวิตฉันเป็นแบบนี้ไม่จำเป็นต้องไปทำตามคนอื่นเลย


         ถ้าสนใจเนื้อหาแบบเต็มสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ด้วยตัวเองเลยค่ะ

        เพลงต่อมาก็ขอนำเสนอเพลงที่ชอบของตัวเองเช่นกันค่ะ เป็นเพลงของ Ronan Keating – When You Say Nothing At All  เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินกันมาบ้างหรือถ้าไม่ก็ลองฟังดูได้นะคะ  โดยส่วนตัวชอบเพลงมากค่ะเพราะทำนองที่ฟังสบายแล้วก็เสียงร้องค่ะที่ทำให้ฟังดูสบาย ๆ รื่นหูไปอีก
        แต่นอกจากท่องทำนองและเนื้อร้องจากเพลงนี้แล้วนั้นก็คือเนื้อหาของเพลงค่ะ เพลงนี้มีเนื้อหาที่ไม่ซับซ้อนสามารถเข้าใจได้โดยง่ายค่ะ  เรามาเริ่มจากชื่อเพลงกันก่อนนะคะ When You Say Nothing At All  จำไว้นะคะว่าภาษาอังกฤษก็คือภาษาอังกฤษอาจมีความคล้ายคลึงกันกับภาษาไทยได้แต่ไม่ทางเหมือนกันไปหมดอย่างแน่นอนค่ะ  ถ้าแปลกันแบบตรงตัวหน่อยอาจได้ว่า เมื่อคุณพูดไม่มีอะไรเลย ก็ดูจะมีความหมายที่เข้าใจได้ในตัวอยู่นะคะเพียงแต่ว่าผู้ส่งสารไม่ได้ต้องการอย่างนั้นค่ะ  และการแปลแบบตรงตัวนี้ก็ไม่สามารถใช้ได้ไปตลอดด้วยนะคะ  ดังนั้นชื่อเพลงเลยอาจมีใจความว่า  เมื่อคุณไม่ได้พูดอะไรเลย แบบนี้ดูน่าจะเหมาะและเพราะกว่าค่ะ 

 
        จุดประสงค์ของการสร้างบล็อกนี้ขึ้นมาก็เพื่อบอกเล่าทริคเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผู้เขียนสังเกตและศึกษาเองนะคะ เพราะฉะนั้นผู้เขียนจะไม่แปลทั้งเพลงแน่ค่ะเพราะสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว  เพียงแต่ผู้เขียนอยากจะแบ่งปันความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้นค่ะ
        สิ่งที่ผู้เขียนอยากนำเสนอ คือ โครงสร้างภาษา ซึ่งในเพลงนี้ขอเสนอ 2 อย่างที่เข้าใจได้โดยง่ายค่ะ
        อย่างแรกคือการใช้ Say nothing ค่ะ ทำไมถึง say nothing มันคืออะไร พูดแต่พูดว่าไม่มีอะไรเหรอคือถ้าเราเข้าใจและแปลอย่างนี้จะทำให้เนื้อหาข้อมูลผิดพลาดไปได้แน่ค่ะ  การใช้คำแบบนี้เป็นลักษณะเฉพาะที่ถ้าสังเกตดี ๆ ในภาษาอังกฤษจะมีแบบนี้เยอะมากค่ะ  ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ Verb ตัวไหนค่ะ  อย่างเช่นประโยค I have no money.  เราสามารถแปลได้ว่าฉันไม่มีเงินไปเลยค่ะ ไม่ต้องมาแปลฉันมีไม่เงิน  แบบนี้จะทำให้งงไปกันใหญ่นะคะ  แล้วถ้าเราอยากใช้แค่ I don’t have money. ล่ะ ก็ใช้ได้ค่ะเพราะความหมายก็ในทำนองว่าไม่มีเงินเหมือนกัน  แต่ผู้เขียนคิดว่าแบบที่สองจะเป็นในเชิงตอบปฏิเสธมากกว่าค่ะ อย่างแรกเราใช้เป็นประโยคบอกเล่าในตัวได้เลยค่ะ
         ส่วนอีกอย่างคือคำว่า at all  ค่ะ ซึ่งมีความโดยเข้าใจง่ายว่า เลย  ค่ะ อย่างเช่น I don't it at all. ซึ่งสามารถแปลได้ว่าฉันไม่ชอบมันเอาซะเลย อย่างนี้เป็นต้นค่ะ

วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

Writing 2



        ต่อจากบทความก่อนหน้าเรื่องข้อสังเกตเกี่ยวกับการเขียนนะคะ ครั้งนี้ผู้เขียนก็ขอเสนอข้อสังเกตอีกข้อที่ทิ้งท้ายไว้ค่ะ

        ศึกษาจากตัวอย่าง
        สำหรับผู้เขียนเองเทคนิคนี้สามารถปรับใช้ได้ค่อนข้างดีเลยทีเดียว  เพราะการเรียนรู้แต่ละอย่างเรามักจะเรียนรู้ผ่านทางต้นแบบต่าง ๆ ขนาดครูก็ยังถือว่าเป็นต้นแบบเป็นแบบอย่างเลยใช่ไหมคะ  ดังนั้นสำหรับผู้เขียนแล้วการเรียนรู้จากตัวอย่างจึงทำให้จดจำและสามารถนำไปใช้ได้จริงได้ง่ายกว่าการที่เราท่องหลักการใช้อย่างเดียว  แต่ถ้าให้ดีผู้เขียนแนะนำว่าพัฒนาทั้งสองแบบจะทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีกค่ะ

        แล้วศึกษาจากตัวอย่างต้องทำอย่างไร?

        ผู้เขียนขอเสนอวิธีที่ผู้เขียนใช้เองค่ะ คือวิธีการอ่านและการสังเกต ในบางครั้งเราไม่สามารถอ่านและเข้าใจเนื้อหาได้ทันทีหรืออาจจะไม่ค่อยเข้าใจเลยก็ได้สำหรับผู้เขียนเองก็ยังอยู่ในระดับนี้นี่แหละค่ะ  แต่ผู้เขียนก็สามารถสังเกตสำนวนการเขียนต่าง ๆ การเว้นวรรค การเน้นคำ เน้นประโยคต่าง ๆ ให้ดูเป็นบทความที่มีความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้นได้  ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายหากเป็นบทความทางวิชาการเราสามารถสืบค้นและหาอ่านทั่วไปเลยค่ะ  และอีกอย่างง่าย ๆ ก็คือบทความในข้อสอบนั่นเองค่ะ จะได้ฝึกอ่านด้วยและฝึกทำไปด้วยเลยในตัว

        และข้อสุดท้ายที่ผู้เขียนขอนำเสนอ คือ การเปิดใจค่ะ
        การเปิดใจรวมไปถึงการเปิดสมองต้อนรับความรู้ต่าง ๆ เพื่อทำให้เราสามารถศึกษาหาความรู้ใหม่เพิ่มมาได้ค่ะ  การเรียนรู้มักจะทำให้เรารู้เยอะขึ้น รู้มากขึ้น  และการเปิดใจยอมรับความรู้นั้นก็จะทำให้เราสามารถนำความรู้มาใช้ได้มากขึ้นค่ะ

        ตามธรรมเนียมผู้เขียนนะคะ ครั้งนี้ขอปิดท้ายบทความไปด้วยบทเพลง ชื่อว่า If I Die Young ของ The Band Perry  ที่มาของเพลงนี้คือลูกพี่ลูกน้องของผู้เขียนชอบฟังค่ะเลยติดหูมาด้วย  ตอนแรกก็คิดว่าเป็นเพลงสบาย ๆ ดีค่ะคิดว่าเกี่ยวกับความรักประมาณนั้น  จนพอตั้งใจฟังดี ๆ แล้ว ศึกษาเนื้อหาดูแล้วถึงได้ทราบความหมายของเนื้อเพลงค่ะ  ซึ่งเพลงนั้นมักจะสีเสน่ห์ในตัวอยู่อย่างค่ะ คือเราสามารถตีความได้ต่างกันออกไป  เลยอยากมาแบ่งปันเพลงนี้กันค่ะ
        โดยรวมเนื้อหาของเพลงจะบ่งบอกว่าชีวิตคนเรามันสั้น เพราะงั้นก็ใช้ชีวิตให้คุ้มและจากไปอย่างสงบสุขและสวยงามค่ะ นี่ก็เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเองเช่กันค่ะแลดูเหมือนเป็นเพลงจรรโลงใจได้ด้วยนะคะ


Writing



        หลังจากการคิด การพูด บทความนี้ผู้เขียนขอเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับการเขียนบ้างค่ะ  อย่างที่รู้กันนะคะทักษะพื้นฐานในการเรียนและใช้ภาษาก็คือ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนนั่นแหละค่ะ

        พอเข้าเรื่องของทักษะการเขียนแล้วนั้น หลายคนก็คงคิดได้ไม่พ้นพวกหลักไวยากรณ์และโครงสร้างต่าง ๆ อย่างแน่นอน  ซึ่งก็ถูกค่ะงานเขียนส่วนมากมักจะบ่งบอกถึงความเป็นทางการและเป็นภาษาที่ค่อนข้างจะสละสลวยสวยงามกว่าภาษาพูดทั่วไป  และเพราะความเป็นทางการนี้นี่แหละค่ะที่ทำให้ใครหลายคนคิดว่าทักษะการเขียนเป็นทักษะที่ยากที่สุด
        สำหรับผู้เขียนก็คิดว่ายากเช่นกันค่ะ  แต่คงไม่เหนือความพยายามของเราที่พร้อมจะเรียนรู้อย่างแน่นอน ดังนั้นผู้เขียนเลยมีข้อคิดเห็นเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ผู้เขียนได้สังเกตและศึกษามาด้วยตนเอง ดังนี้ค่ะ

        1.เรากลัวว่าจะเขียนผิด
        เรื่องนี้ค่อนข้างจะกระทบอารมณ์ความรู้สึกอยู่หน่อย ๆ ก็คือเราถูกปลูกฝังมาว่า หลักการเขียนมันตายตัวมันถูกตั้งเกณฑ์มาแบบนั้นและมันจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้  ซึ่งสำหรับผู้เขียนผู้เขียนคิดว่าก็ไม่ถูกทั้งหมดค่ะ หลักการเขียนหลายอย่างที่ผู้เขียนได้ศึกษามาก็พบว่ามันมักจะมีข้อยกเว้นในหลาย ๆ เรื่องอยู่บ่อย ๆ ค่ะ  ซึ่งนั่นก็เป็นผลมาจากการยืดหยุ่นในภาษา หรือแม้กระทั่งการวิบัติของภาษาไปตามเวลาด้วย
        แต่เพราะมันค่อนข้างตายตัวนี่แหละค่ะที่ทำให้เราเห็นข้อผิดพลาดได้ง่าย  แต่ตามระบบการศึกษาของไทยมักมองว่าความผิดพลาดนั้นหรือความไม่รู้นั้นมันผิด  บางครั้งก็ไม่แปลกที่จะตัดสินอย่างนั้นซักเท่าไหร่เพราะก่อนที่เราจะสอบเราก็ต้องเรียนรู้มาแล้วใช่ไหมคะถึงจะมาขั้นทดสอบได้  แต่มีอีกอย่างที่ทำให้ใครหลายคนขยาดภาษาอังกฤษเพราะหลักการเขียนอยู่ก็คือ การที่ผิดแล้วไม่มีใครไขข้อข้องใจนั้นให้ค่ะ เราอาจผิดพลาดซึ่งนั่นจะทำให้เราตระหนักและระมัดระวังมากขึ้น  แต่ถ้าเกิดเราไม่รู้หรือไม่เข้าใจขึ้นมาน่าจะเป็นปัญหาใหญ่เลยค่ะ พอไม่เข้าใจก็ไม่รู้เรื่องจนสุดท้ายก็อาจจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่เข้าใกล้ไปเลย  เพราะกลัวถูกตัดสินว่าผิดไปได้ค่ะ
        ส่วนอีกข้อขอยกไปอีกบทความนะคะเพราะเนื้อหาอาจจะเยอะเกินจนอาจตาลายได้ค่ะ

วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

Accent



        British accent & American accent.
        สำหรับผู้เขียนเองแล้วเชื่อว่าใครที่เรียนภาษาอังกฤษเนี่ยจะทราบมาว่าภาษาอังกฤษที่ใช้กันอยู่เนี่ยหลัก ๆ ก็มักจะมีอยู่ 2 สำเนียงใช่ไหมคะ  แล้วก็บ่อยครั้งที่เวลาคนเรียนรู้หรือผู้ใช้ภาษามักจะบอกว่าทั้งสองสำเนียงมีความต่างกันอยู่มากมาย  ไม่ว่าจะด้วยการออกเสียงหรือด้วยคำศัพท์  หรือแม้แต่หลักไวยากรณ์ที่ถูกจำกัดความไว้ก็ยังสามารถแตกต่างกันได้เช่นกัน

        แล้วเราควรเลือกอะไร? 

        คำตอบของผู้เขียนคือไม่เลือกค่ะ  เพราะอันที่จริงแล้วจากการสังเกตการณ์เรียนภาษาอังกฤษในระบบการศึกษาไทยโดยทั่วไปแล้วเนี่ยเราจะเรียนแบบผสมค่ะ  เราสามารถสังเกตได้จากสิ่งรอบตัวหลายอย่างของไทยนะคะที่มักจะไม่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจน  หากทางเลือกต่าง ๆ ที่มีมามีคุณประโยชน์ด้วยกันแล้วเราเองก็มักที่จะใช้การผสมผสานเข้าด้วยกันค่ะ
        ที่จริงแล้วผู้เขียนเองก็อาจไม่มีความรู้มากพอที่จะไปตัดสินได้ว่าการระบบการศึกษาของไทยเป็นแบบผสมจริง ๆ รึเปล่านะคะ  แต่ก็ตามที่บอกค่ะว่ามาจากการสังเกตเข้าด้วยกัน  อย่างคำศัพท์บางคำที่เราใช้ก็เป็นแบบอเมริกัน  แต่บางครั้งการออกเสียงของเราก็ดันเป็นแบบอังกฤษ(หรือ British) ไปก็ได้นะคะ

        ถ้าเกิดเรียนแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร  ควรทำยังไง?

        ใจจริงของผู้เขียนก็อยากจะตอบเป็นเอลซ่า ว่า “Let it gooooooo.” ไปค่ะ  แต่จะดูไม่ได้ช่วยอะไรมากเท่าไหร่  คือผู้เขียนขออธิบายเหตุผลกันซะหน่อยนะคะ
        คนเรามีจุดประสงค์และจุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ต่างกันค่ะ  และสำหรับผู้เขียนเองผู้เขียนคิดว่าการเรียนรู้ภาษาต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นภาษาอังกฤษนะคะ  จุดประสงค์ที่สำคัญคือ เพื่อการสื่อการค่ะ  เพราะเราใช้ภาษาเป็นสื่อกลางในการสื่อสาร  แล้วพอมามองในมุมของภาษาอังกฤษที่ผู้เขียนกำลังศึกษาอยู่นี้ผู้เขียนเชื่อมั่นอย่างยิ่งค่ะว่าจะด้วยสำเนียงไหนแล้วคนเราก็สามารถสื่อการกันเข้าใจได้ค่ะขอแค่ไม่ออกเสียงคำผิดไปก็เท่านั้นเอง

        และสำหรับหลายคนที่เรียนภาษาแล้วคิดว่าแต่ละสำเนียงมีเสน่ห์ที่น่าค้นหาต่างกัน  และเราเองก็อยากจะพูดสื่อสารในแบบนั้น ๆ ได้  ผู้เขียนแนะนำว่าฝึกเยอะ ๆ ค่ะ อย่างที่ได้บอกไปสำหรับผู้เขียนการเรียนภาษาให้ดีได้เนี่ยเราต้องลอกเลียนแบบเก่งด้วยค่ะ  และก็อย่าลืมนะคะว่าเราแค่ไปลอกเลียนแบบมาเราไม่ได้เป็นคนคิดหรือคนใช้ภาษานั้น ๆ ตั้งแต่แรกเกิด การที่เราจะพูดหรือสื่อสารในสำเนียงของเราเองที่อาจจะผสมผสานหลากหลายสำเนียงเข้าด้วยกันมันก็ไม่ผิดหรือแปลกเลยค่ะ  เพราะเราก็คือเรา  ถ้าผู้รับสารเข้าใจสารที่เราส่งไปในความหมายเดียวกันกับเรานั่นก็ถือว่าประสบความสำเร็จมากแล้วค่ะ

        สุดท้ายนะคะผู้เขียนไม่ได้ต้องการบังคับให้ผู้อ่านเจาะจงเลือกเรียนในแบบใดแบบหนึ่งนะคะ  แต่ผู้เขียนต้องการบอกความคิดของผู้เขียนผ่านทางตัวอักษรทั้งหลายนี้ว่าสิ่งสำคัญคือเราสื่อสารแล้วเข้าใจกันได้ค่ะ  แต่ก็อย่าลืมเรื่องวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละที่ด้วยนะคะ  แม้ว่าเราอาจจะสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษเหมือนกันก็จริงแต่บางทีความหมายของคำศัพท์หรือรูปประโยคก็อาจมีความหมายแตกต่างกันไปตามแต่ละที่นะคะ

        ท้ายที่สุดอย่างแท้จริงค่ะ >_<
        ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนคงรู้จักอาจารย์อดัมกันนะคะ ผู้เขียนเลยขอยกวิดีโอตัวหนึ่งที่อาจารย์อดัมได้พูดคุยกับเพื่อนต่างสำเนียงดูค่ะ